ข่าวสารประกอบการลงทุนทองคำ
ข่าวสารประกอบการลงทุนทองคำ
  • (+) "ฟิทช์" ลดแนวโน้มเครดิตสหรัฐสู่เชิงลบ เหตุพิษโควิดทำขาดดุลการคลังเพิ่ม ฟิทช์ เรทติ้ง ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA ของสหรัฐลงสู่ "เชิงลบ" จากเดิม "มีเสถียรภาพ" โดยระบุถึงความแข็งแกร่งด้านเครดิตที่ลดลง ซึ่งรวมถึงยอดขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นซึ่งเกิดจากการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคโควิด-19 ฟิทช์ระบุว่า ทิศทางนโยบายการคลังของสหรัฐในอนาคตนั้นบางส่วนจะขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภาคองเกรสสหรัฐในเดือนพ.ย.ปีนี้ พร้อมทั้งเตือนว่า มีความเสี่ยงที่ภาวะชะงักงันด้านนโยบายอาจจะดำเนินต่อไป ฟิทช์เปิดเผยว่า หนี้สินและยอดขาดดุลงบประมาณซึ่งเพิ่มขึ้นอยู่แล้วก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาดนั้น ได้เริ่มลดความแข็งแกร่งด้านเครดิตของสหรัฐ ฟิทช์คาดการณ์ว่า หนี้สินของรัฐบาลสหรัฐจะสูงเกิน 130% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภายในปี 2564 โดยหนี้สินของสหรัฐอยู่ที่ระดับสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่ฟิทช์จัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA
  • (+) โพลชี้ชาวอเมริกัน 2 ใน 3 ไม่พอใจแนวทางรับมือโควิด-19 ของ "ทรัมป์" สำนักข่าวซินหัวรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นชาวสหรัฐจากสำนักข่าวเอบีซีนิวส์และ Ipsos ซึ่งระบุว่า มีประชาชนเพียง 34% ที่ยอมรับผลงานการรับมือกับโควิด-19 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผลสำรวจชี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจมาตรการรับมือหรือแนวทางการจัดการภาวะวิกฤตในยุคของปธน.ทรัมป์หลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับนายจอร์จ ฟรอยด์ ที่บานปลายจนเกิดเหตุรุนแรงทั่วประเทศ โดยมีประชาชนราว 36% เท่านั้นที่พอใจการรับมือของรัฐบาล ด้านประชาชน 52% ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลางในเมืองต่าง ๆ ต่อกลุ่มผู้ประท้วงยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง อนึ่ง ผลสำรวจของสำนักข่าวเอบีซีนิวส์และ Ipsos ได้ทำการสอบถามประชาชน 730 คน ในช่วงระหว่างวันที่ 29-30 ก.ค.
  • (+) สหรัฐยังวืดข้อตกลงเยียวยาเศรษฐกิจฉบับใหม่ ขณะเงินช่วยคนตกงานหมดอายุแล้ว สมาชิกสภาของพรรครีพับลิกันและเดโมแครตยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการเยียวยารอบใหม่เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ได้ ในขณะที่มาตรการให้เงินช่วยเหลือพิเศษ 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์กับชาวอเมริกันที่ตกงานราว 30 ล้านคนนั้น ได้หมดอายุลงแล้วในวันศุกร์ (31 ก.ค.) ทั้งสองพรรคดูเหมือนยังคงมีความขัดแย้งกันอย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นการขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือคนว่างงาน และทั้งสองพรรคต่างก็โทษกันว่าเป็นความผิดของอีกฝ่ายที่ทำให้ไม่สามารถทำข้อตกลงกันได้
  • (+) ผลสำรวจม.มิชิแกนชี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐต่ำกว่าคาดในเดือนก.ค. ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 72.5 ในเดือนก.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 72.7 จากระดับ 78.1 ในเดือนมิ.ย.
  • (-) สหรัฐเผยการใช้จ่ายผู้บริโภคดีดตัวเดือนที่ 2 ในมิ.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.6% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 5.5% หลังจากพุ่งขึ้น 8.5% ในเดือนพ.ค.
  • (-) ดอลล์แข็งค่า รับข้อมูลการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐเพิ่ม ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (31 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์เพื่อชดเชยการทำชอร์ตเซลหลังจากดอลลาร์ร่วงลงในเดือนก.ค.รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐที่เพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.38% แตะที่ 93.3749 เมื่อคืนนี้ แต่ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดอลลาร์ ลดลง 1.14% ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.77 เยน จากระดับ 104.82 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9138 ฟรังก์ จากระดับ 0.9096 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3384 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3443 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1782 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1837 ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3101 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3085 ดอลลาร์
  • (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 114.67 จุด รับอานิสงส์หุ้นเทคโนฯพุ่งจากผลประกอบการแกร่ง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (31 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีชั้นนำ อาทิ แอปเปิล, แอมะซอน.คอม และเฟซบุ๊ก หลังจากบริษัทเหล่านี้เปิดเผยรายได้และผลกำไรสูงเกินคาดในไตรมาส 2/2563 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการรอบใหม่ของรัฐบาลสหรัฐในการเยียวยาผลกระทบของโรคโควิด-19 นั้น ยังคงทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,428.32 จุด เพิ่มขึ้น 114.67 จุด หรือ +0.44%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,271.12 จุด เพิ่มขึ้น 24.90 จุด หรือ +0.77% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,745.27 จุด เพิ่มขึ้น 157.46 จุด หรือ +1.49%